You are currently viewing โรคไข้หวัดใหญ่กับโรคหืด

โรคไข้หวัดใหญ่กับโรคหืด

โดย พญ.นาฏพธู สงวนวงศ์ อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจฯ สถาบันบำราศนราดูร

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

โรคไข้หวัดใหญ่คืออะไร

            เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งติดต่อได้ทางการหายใจ โดยเชื้อจะปนเปื้อนออกมากับน้ำลายหรือเสมหะเมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในทางเดินหายใจโดยตรง เนื่องจากเชื้อไวรัสตัวนี้มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ง่ายทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถ จดจำตัวไวรัสได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงเกิดป่วยซ้ำได้แม้ว่าเคยป่วยมาก่อน โดยปกติโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย มักพบบ่อยในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาวของทุกปี จึงถูกเรียกว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal influenza)”

ในบางกรณีเชื้อไวรัสอาจมีการกลายพันธุ์อย่างมาก จนเกิดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ได้เป็นวงกว้าง และอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ เนื่องจากไม่เคยมีใครมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน ดังตัวอย่างของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช1 เอ็น1) ที่พบในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นเชื้อลูกผสมของไข้หวัดใหญ่ของคน หมู และนกรวมกัน

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอาการแตกต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอย่างไร

คล้ายกันคือ ผู้ป่วยมักมีไข้สูง ปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยตัวมากเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ร่วมกับพบอาการไอ มีน้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอได้ อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง  สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น เพราะอาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรคอื่นๆได้เช่นกัน ดังนั้นจึงยากที่จะให้การวินิจฉัยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่โดยใช้เพียงอาการอย่างเดียว จึงต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆมาช่วยในการวินิจฉัย

แต่ที่แตกต่างกันคือ โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงและไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง มักอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วันและหายได้เองในเวลาต่อมาโดยไม่ต้องให้ยาต้านไวรัสใดๆ ในขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหมนั้น อาจพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้บ่อยขึ้นแม้ว่าเดิมมีสุขภาพแข็งแรงดี เช่น ปอดอักเสบ เป็นต้น ดังนั้นถ้ามีอาการแบบไข้หวัดใหญ่แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลงใน 1-2 วัน  เช่น ไอมากขึ้น ร่วมกับหอบเหนื่อย หรือเจ็บหน้าอกมาก  จึงควรไปพบแพทย์ทันที

โรคไข้หวัดใหญ่เกี่ยวข้องกับโรคหืดอย่างไร

เนื่องจากผู้ป่วยโรคหืด โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ มักพบภาวะ “ภูมิไวเกินของหลอดลม (Airway hyper-responsiveness)” ส่งผลให้เกิดการตีบแคบของหลอดลมส่วนปลายได้อย่างเฉียบพลัน เมื่อมีสิ่งระคายเคืองหรือมีสิ่งกระตุ้น เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจ ความเหนื่อยมากๆ ความเครียดมากๆ อากาศที่ร้อนมาก/เย็นมาก/หรือชื้นมากเกินไป เป็นต้น ทำให้เกิดอาการ “จับหืด” มีอาการหอบเหนื่อยแบบปัจจุบันพลันด่วน ซึ่งในผู้ที่มีอาการมากๆจะเกิดอาการ ”ตัวเขียว” เนื่องจากร่างกายขาดก๊าซออกซิเจนและมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติ ความดันเลือดต่ำจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยโรคหืดที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มที่อาการหอบหืดจะกำเริบได้มากขึ้น แม้ว่าเดิมสามารถคุมอาการหอบหืดได้ดีระดับหนึ่งแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหืด รวมถึงผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง ถูกจัดเป็น “กลุ่มเสี่ยง” สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ต้องได้รับการป้องกันด้วยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทุกปี หรือต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันที เพื่อลดความรุนแรงของโรคในกรณีที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

มีอาการอย่างไร จึงสงสัยว่าป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)

ปัจจุบันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) มีการระบาดเป็นวงกว้างทั่วไปในชุมชนต่างๆ ดังนั้นถือว่าทุกคนมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคเท่า ๆ กัน ในผู้ที่มีโรคหืดเป็นโรคประจำตัว และมีอาการดังต่อไปนี้ ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)

มีอาการคล้ายหวัด ร่วมกับมีไข้สูง ปวดศีรษะ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวมาก

มีอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน หลังจากมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา หรืออาการแพ้อากาศในช่วงนี้ที่ยังมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)

ดังนั้นในผู้ที่มีโรคหืด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยโรคแต่เนิ่น ๆทันทีที่มีอาการดังที่กล่าว ไม่ควรลองซื้อยามารับประทานเองก่อน เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันว่าการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลนั้น จะได้ประโยชน์เมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 1-2 วันหลังจากเริ่มมีอาการเท่านั้น ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)นั้น แม้ว่าไม่มีข้อมูลในขณะนี้ แต่ก็แนะนำให้เริ่มยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุดใน “กลุ่มเสี่ยง” เพื่อลดความรุนแรงของโลก

ถ้าเป็นโรคหืดอยู่ ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลโรคไข้หวัดใหญ่

หลีกเลี่ยงการไปเยี่ยม ดูแล หรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าสายพันธุ์ใหม่ฯ หรือตามฤดูกาลก็ตาม

หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่แออัด โดยเฉพาะที่ที่มีการถ่ายเทของอากาศไม่ดี

ล้างมือให้ถูกต้องและสะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อจะสัมผัสทุกส่วนบนใบหน้า ก่อนและหลังรับประทานอาหาร ก่อนและหลังเข้าห้องสุขา

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้ร่างกายแข็งแรง ภูมิต้านทานสามารถทำงานได้สมบูรณ์

ดูแลตนเอง และปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้โรคหืดสามารถควบคุมได้

ควรรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลปีละหนึ่งหนทุกปี

ติดตามข่าวสารเรื่องความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) เมื่อมีใช้ในประเทศไทย ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาการได้รับวัคซีนดังกล่าวโดยเร็ว หมั่นสังเกตอาการตนเอง และรีบไปพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่