You are currently viewing การรักษาโรคหืด ยาใหม่ในการรักษา

การรักษาโรคหืด ยาใหม่ในการรักษา

การรักษาโรคหืด : ยาใหม่ในการรักษา

นายแพทย์สุชาติ  จิระจักรวัฒนา

โรคหืด  มีผู้กล่าวถึงครั้งแรกเมื่อ  3,500 ปี    ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ      การรักษาของเขาในตอนนั้นคือ    การให้คนไข้ทานซุปไก่

                ในสมัยศตวรรษที่ 17 และ 18 แพทย์เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับโรคหืดว่าเกิดจากการหดตัวของหลอดลม ในด้านการรักษาพบว่ามีตำรับยาขนานต่างๆ ที่เชื่อกันว่าสามารถรักษาโรคหืดได้อยู่เป็นจำนวนมาก

                จนกระทั่งหลังปี ค.ศ.1960    จึงมีการค้นพบครั้งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการรักษาโรคหืดจนมาถึงปัจจุบัน   โดยพบว่าโรคหืดเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม  และหลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ ( Bronchial  Hyperresponsiveness ) มีผลทำให้หลอดลมเกิดการหดเกร็ง  มีการหลั่งมูกในหลอดลมจำนวนมาก และมีการบวมของผนังหลอดลม เป็นผลให้มีการตีบแคบของหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยหอบเหนื่อย หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ไอ  หายใจมีเสียงหวีด  ซึ่งอาการเหล่านี้อาจหายได้เอง หรือเมื่อได้รับยาขยายหลอดลม

ในระยะต่อมา  คือช่วงหลัง ค.ศ. 1997  ถึงปัจจุบัน   พบว่าการอักเสบของหลอดลมที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดลมอย่างถาวรทั้งรูปร่างและการทำงาน ทำให้สมรรถภาพปอดผู้ป่วยโรคหืดต่ำกว่าปกติ  และมีหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างถาวร

จากความรู้ดังกล่าวนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาครั้งสำคัญและพัฒนายาใหม่ๆ โดยยาหลักที่ใช้รักษาโรคหืดคือการให้ยาต้านการอักเสบ  เพื่อแก้ไขภาวะอักเสบเรื้อรังของหลอดลม   แทนการใช้แต่เพียงยาขยายหลอดลม  เพื่อบรรเทาอาการ เช่นในอดีต ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถลดระดับความรุนแรงของโรคได้แล้ว   ยังไม่สามารถป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพของปอดอย่างถาวร  อันเกิดจากภาวะของโรคหืดเรื้อรังได้  รวมทั้งยังอาจมีผลเสียตามมา ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดเสียชีวิตมากขึ้น    ในแนวทางการรักษาโรคหืดทั่วโลกจึงแนะนำให้ใช้ยาขยายหลอดลมเฉพาะในกรณีที่มีอาการเท่านั้น และไม่ควรใช้เกิน 3-4 ครั้ง/วัน และห้ามไม่ให้ใช้ยาขยายหลอดลมเป็นประจำสม่ำเสมอ

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืด

                ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืดในปัจจุบันแบ่งได้ง่ายๆ เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ ยาขยายหลอดลมหรือยาบรรเทาอาการ และยาระงับการอักเสบ

ยาขยายหลอดลม คือ ยาที่ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัวและทำให้หลอดลมขยายตัว ไม่มีผลในการลดการอักเสบของหลอดลม ยาในกลุ่มนี้ คือ

                        ß–adrenergic agonist mast cell

                        กลุ่ม ออกฤทธิ์เร็วและออกฤทธิ์ระยะสั้น คือ 4–6 ชั่วโมง เช่น salbutamol, terbutaline, procaterol และ fenoterol   เป็นต้น   ยากลุ่มนี้เป็นที่นิยมใช้ที่สุดเพื่อบรรเทาอาการหอบเพราะออกฤทธิ์เร็วและขยายหลอดลมได้ดีที่สุด

                        กลุ่ม ออกฤทธิ์อยู่นานมากกว่า 12 ชั่วโมง ได้แก่    formoterol   และ   salmeterol   

           ได้มีการพัฒนายาชนิดใหม่โดยการนำเอายาขยายหลอดลมกลุ่มที่ออกฤทธิ์อยู่นานมากกว่า 12 ชั่วโมง มารวมกับยาระงับการอักเสบคอร์ติโคสเตียรอยด์   ซึ่งผลที่ได้พบว่ายาในรูปผสมดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค ดีกว่าการใช้ยา คอร์ติโคสเตียรอยด์  อย่างเดียวในขนาดสูง  และยังทำให้ลดการใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น รวมทั้งลดการเกิดภาวะจับหืดเฉียบพลันได้ดีกว่าการใช้ยาเดี่ยวๆ  นอกจากนี้ยังเพิ่มความสะดวกในการใช้ยามากขึ้น  ยาในกลุ่มนี้ได้แก่   fluticasone/salmererol  และ   budesonide/formoterol

ยาระงับการอักเสบ มีฤทธิ์ในการระงับการอักเสบของหลอดลม ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่

                        คอร์ติโคสเตียรอยด์   เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาการอักเสบของหลอดลมโดยออกฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ   แม้ว่ายาคอร์ติโคสเตียรอยด์จะมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคหืด แต่การกิน คอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นเวลานานก็จะมีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง  เช่น กระดูกผุ อ้วน  ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และที่สำคัญที่สุดคือ    การกดการทำงานของต่อมหมวกไต   การค้นพบยาพ่น คอร์ติโคสเตียรอยด์  ในปี ค.ศ. 1972 นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการรักษาโรคหืด     เนื่องจากสามารถลดผลเสียที่จะเกิดจากการกินคอร์ติโคสเตียรอยด์ได้         ปัจจุบันมียาพ่นกลุ่ม corticosteroid            ในท้องตลาด 3 ชนิด คือ beclomethasone dipropionate (BDP), budesonide และ fluticasone propionate    ในปัจจุบันยาพ่นกลุ่ม คอร์ติโคสเตียรอยด์ ถือว่าเป็นยาหลักในการรักษาโรคหืด

                        Leukotriene  modifier  zafirlukast montelukast leukotriene  leukotriene

ยาต้าน IgE   เป็นยาที่ออกมาใหม่ในท้องตลาด เนื่องจากว่าปฏิกิริยาระหว่าง IgE กับ antigen    ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดลม และการชักนำเซลล์อักเสบมาสู่หลอดลมอันจะทำให้โรคหืดเลวลง  การให้ยาต้าน IgE เพื่อจับกับ IgE ในกระแสเลือด   ทำให้มี IgE ที่อิสระลดลง ซึ่งยังผลให้ปฏิกิริยาที่จะทำให้หลอดลมอักเสบลดลง ทำให้โรคหืดดีขึ้น     แต่เนื่องจากยามีราคาแพงมากจึงเลือกใช้เฉพาะในรายที่ให้ยาอื่นเต็มที่แล้วยังควบคุมโรคหืดไม่ได้

                           อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมองหายาใหม่ๆ โดยคิดว่ายาที่ใช้อยู่ไม่ได้ผลดีนั้น   สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องคอยถามตัวเองอยู่เสมอ คือ   ได้ใช้ยาอย่างถูกต้อง คือ ถูกชนิด ถูกขนาด ถูกเวลา และถูกวิธีแล้วหรือยัง     ได้ลดและเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการหอบแล้วหรือยัง   รวมถึง การดูแลสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน  การไม่สูบบุหรี่   การออกกำลังกายสม่ำเสมอ   จะทำให้ลดการเกิดหอบหืดลงได้   โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่าการดูแลและจัดการกับเรื่องดังกล่าว จะสามารถแก้ไขให้อาการหอบหืดดีขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยยาใหม่ๆ ซึ่งยังมีราคาค่อนข้างแพง